สารกันบูดในน้ำจิ้มสุกี้
ถ้าจะให้กล่าวถึงอาหารที่เป็นจุดหมายปลายทางของมื้อเย็น ยุคนี้คงหนีไม่พ้นหมูกระทะ สุกี้ หรือชาบู
การทานอาหารเหล่านี้ให้ได้รสชาติต้องทานรวมกันกับเพื่อน ครอบครัว เพราะจะได้อรรถรส ส่วนประกอบของหมูกระทะ สุกี้ ชาบู หลักๆ จะเป็นเนื้อสัตว์หลากหลายชนิด ผัก วุ้นเส้น ไข่ น้ำซุป และน้ำจิ้มรสเด็ด เผ็ดมาก เผ็ดน้อย เผ็ดกลาง เลือกระดับได้ตามอัธยาศัย
บางร้านจะผลิตน้ำจิ้มและใช้วันต่อวัน แต่บางร้านนิยมซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้เพราะสะดวก และเก็บไว้ใช้ได้นาน เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ใส่สารกันบูดลงไปในระหว่างการผลิตเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น
สารกันบูดที่นิยมใช้คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ใช้เพื่อป้องกันการเสื่อมเสียของอาหารที่เกิดจากแบคทีเรีย ยีสต์และเชื้อรา ปกติจะอนุญาตให้ใส่ในอาหารได้ตามชนิดและปริมาณที่กฎหมายกำหนดหากรับเข้าสู่ร่างกายปริมาณน้อยและไม่บ่อยมากนัก ร่างกายสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะผ่านกระบวนการทำงานของตับและไต แต่หากทานอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำ อาจทำให้ร่างกายขับออกไม่ทัน จนสะสมและตกค้างในร่างกาย ส่งผลให้เจ็บป่วยและมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาการเลือดตกใน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง ซึ่งใน 1 วันไม่ควรได้รับกรดเบนโซอิกเกิน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่ควรได้รับกรดซอร์บิกเกิน 25 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกผลปรากฏว่า พบสารกันบูดทุกตัวอย่างในปริมาณที่แตกต่างกันไป ท่านที่ชอบและทานน้ำจิ้มสุกี้เป็นประจำ ขอแนะว่าเลือกซื้อน้ำจิ้มสุกี้ที่บนฉลากระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” และควรเลือกทานอาหารให้หลากหลาย เน้นทานอาหารที่ทำสดใหม่ ลดการทานอาหารปรุงแต่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีสารต่างๆสะสมในร่างกายมากเกินไป จนไม่ปลอดภัยต่อร่างกายเรา.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น